หน้าแรกคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA)นโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ปี 2559 คะแนนไทยร่วงจาก 38 เป็น 35 อันดับตกจาก 76 เป็น 101 จาก...

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ปี 2559 คะแนนไทยร่วงจาก 38 เป็น 35 อันดับตกจาก 76 เป็น 101 จาก 176 ประเทศ

49490
 

http://www.transparency.org/news/feature/corruption_perceptions_index_2016

http://www.transparency.org/news/feature/corruption_perceptions_index_2016

เมื่อวันนี้ 25 มกราคม 2560 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2016 ปรากฎว่า 2 ใน 3 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน สำหรับประเทศที่ได้อันดับหนึ่งยังคงเป็นประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ 90 คะแนนเท่ากัน ขณะที่ประเทศจากทวีปเอเซียอย่างสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 7 ได้ 84 คะแนน ในส่วนของประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลง 3 คะแนน ได้ลำดับที่ 101 เมื่อเทียบกับปี 2558 ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 จาก 168 ประเทศ
ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2016 นี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล (ปี 2015 ใช้ 8 แหล่งข้อมูล) โดยใน 8 แหล่งข้อมูล ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่งข้อมูล คะแนนเท่าเดิม 1 แหล่งข้อมูล และคะแนนลดลง 4 แหล่งข้อมูล ขณะที่แหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ในปีนี้ 1 แหล่งข้อมูล วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย ทั้งนี้ สามารถสรุปแต่ละแหล่งข้อมูลได้ ดังนี้

1.แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล คือ

1.1 World Justice Project (WJP): Rule of Law Index ได้คะแนน 37 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11 คะแนน โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1)รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและถูกตรวจสอบได้ 2)กฎหมายต้องเปิดเผย ชัดเจน มั่นคง ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3)กระบวนการทางกฎหมายมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ 4)การตัดสินคดีต้องมีความเป็นธรรม มีจริยธรรม มีความเป็นกลาง ทั้งนี้ WJP มีการเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม – กันยายน 2016
การที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะมีองค์ประกอบที่ช่วยเสริม ได้แก่ การมีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งมีเนื้อหาโดยรวมคือให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารแล้วย้ายไปอยู่ในศาลยุติธรรมปกติ,จุดยืนของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในการดำเนินการตามโรดแมปเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและความเป็นประชาธิปไตย,การมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น,การแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับการเลื่อนชั้นในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา จาก“เทียร์ 3” คือ ประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้า และความพยายามที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ขึ้นไปอยู่ใน “เทียร์ 2” คือ บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง,กระทรวงยุติธรรมแถลงผลการรายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council : HRC) รอบที่ 2 ต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 25 ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิก จำนวน 249 ข้อ พร้อมตอบรับทันที จำนวน 181 ข้อ รวมทั้งนำข้อเสนอแนะ ที่เหลืออีก 68 ข้อ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
1.2 International Institute Management Development (IMD) : World Competitiveness Yearbook ได้ 44 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6 คะแนน โดย IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิ และผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ประสิทธิภาพ ของภาคธุรกิจ 4.โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี
การที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะมีองค์ประกอบที่ช่วยเสริม ได้แก่ ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยภาพรวมมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตอย่างจริงจัง รวมทั้งมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้มีความทันสมัยและเป็นสากล มีมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐดำเนินการเพื่อส่งเสริมด้านการลงทุน รวมถึงความคล่องตัวในแต่ละนโยบาย มีการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลในด้านดีต่อประชาชน เช่น พระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
1.3 International Country Risk Guide (ICRG) : Political Risk services ได้ 32 คะแนน
เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 คะแนน โดย ICRG เป็นองค์กรแสวงหากำไร ให้บริการวิเคราะห์วิจัยและจัดอันดับสภาวะความเสี่ยงระดับประเทศ ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ใช้ข้อมูลรายงานความเสี่ยงด้านการเมือง มาประกอบการพิจารณาให้ค่าคะแนน ทั้งนี้ การคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง ICRG มุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยเฉพาะรูปแบบทุจริตที่นักธุรกิจมีประสบการณ์ตรงและพบมากที่สุด นั่นคือการเรียกรับสินบน การเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางธุรกิจกับการเมือง ทั้งนี้ ICRG มีการประเมินและเผยแพร่ผลทุก 1 ปี ครั้งล่าสุดประเมินช่วงเดือนสิงหาคม 2015 – สิงหาคม 2016
การที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะมีองค์ประกอบที่ช่วยเสริม ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างเห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน,สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบอุปถัมภ์ โดยมีการศึกษาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการรับรู้ต่อกลุ่มตัวอย่างในทางที่ดี,การออกกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/5 ซึ่งทำให้ภาคเอกชนเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการรับสินบน และมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว,การดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 มาตรา 103 ได้ผล สังคมได้ตระหนักรู้เรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น

2. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 1 แหล่งข้อมูล คือ

Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-BTI) ได้ 40 คะแนนเท่าปีก่อน โดย BF-BTI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1.ด้านการเมือง 2.ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF-BTI จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุด คือ 1 กุมภาพันธ์ 2013-31 มกราคม 2015 น่าจะใช้ข้อมูลเดิม

3. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 4 แหล่งข้อมูล คือ

3.1 Global Insight Country Risk Rating (GI) ได้ 22 คะแนนลดลงจากปีที่ผ่านมา 20 คะแนน โดย GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญา และขอใบอนุญาต
ทั้งนี้ TI ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลในการประเมินจากเดิมที่ใช้ข้อมูลของ IHS Global Insight แต่ในปีนี้ใช้ข้อมูลของธนาคารโลก (World Governance Indicators : WGI) แทน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าคะแนนเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ อาจมองว่าการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ยังมีอุปสรรคการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับการพิจารณาสัญญาและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ภาคธุรกิจมีการรับรู้ในเชิงลบ
3.2 World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Servey ได้ 37 คะแนนลดลงจากปีก่อน 6 คะแนน โดย WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1)การคอร์รัปชัน 2)ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3)ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4)ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5)โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่าแต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งนี้ WEF จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี
การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากข่าวสารการทุจริต การรับ-จ่ายสินบนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข่าวดังกล่าวมีผลต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก
3.3 Economist intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating ได้ 37 คะแนนลดลงจากปีก่อน 1 คะแนน โดย EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลเดือนกันยายน 2016
การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่ไม่เป็นธรรม การใช้จ่ายงบประมาณ ความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ
3.4 Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 38 คะแนนลดลงจากปีก่อน 4 คะแนน โดย PERC สำรวจนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติในแต่ละประเทศ เพื่อให้คะแนนเกี่ยวกับระดับปัญหาการทุจริตในประเทศที่เข้าไปทำงานหรือประกอบธุรกิจว่าลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ PERC สำรวจข้อมูลช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2016 และตีพิมพ์วารสารในเดือนมีนาคม 2016
การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนว่า การทุจริตยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมยังติดตามและตรวจสอบการทุจริตได้ไม่ดีเท่าที่ควร การมีข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการทุจริตที่เปิดเผยออกมานั้นไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนการในการจัดการกับสถานการณ์การทุจริตที่เกิดขึ้น เนื่องจากบุคคลที่กระทำการทุจริต ส่วนใหญ่กลับไม่ถูกลงโทษ สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ การให้สินบนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแพร่หลาย และคนในประเทศยังมีทัศนคติต่อการให้สินบนว่าเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้
สำหรับแหล่งแหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ในปีนี้เป็นปีแรก 1 แหล่งข้อมูล คือ Varieties of Democracy Project วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ เปิดให้มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังดูพฤติกรรมการคอร์รัปชันในระบบการเมืองในระดับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการด้วย และในอาเซียนมีการวัดเพียง 4 ประเทศคือ เมียนมาร์ ได้ 50 คะแนน ฟิลิปปินส์ 36 คะแนน ไทย 24 คะแนน และกัมพูชา 17 คะแนน
สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการจ่ายสินบนให้หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยในช่วงนี้ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมาก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยได้แสดงให้เห็นอย่างมีนัยยะสำคัญประการหนึ่งว่าสังคมมีความมั่นใจในองค์กรตรวจสอบและรัฐบาลมากขึ้น จึงได้มีการส่งข้อมูลมาให้ดำเนินการตรวจสอบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”
ด้านดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงรายละเอียด เกี่ยวกับกรณีกระแสข่าวค่าดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2559 (Corruption Perceptions Index 2016) หรือ CPI ของประเทศไทยลดลงจากปี 2558 ทำไทยให้เลื่อนจากอันดับที่ 76 ลงเป็นอันดับที่ 101 นั้น เนื่องจากการจัดอันดับ CPI ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากดัชนีชี้วัด 13 ดัชนีมาคิดรวมกัน โดยมีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยจำนวน 8 ดัชนี ซึ่งในปีที่ผ่านมามีดัชนีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 4 ดัชนี ได้แก่
1. ดัชนี IMD World Competitiveness Yearbook 2016 วัดภาพลักษณ์เกี่ยวกับการติดสินบนและการคอร์รัปชัน คะแนนดีขึ้นจาก 38 เป็น 44 คะแนน
2. ดัชนี Political and Economic Risk Consultancy 2016 วัดภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศ คะแนนลดลงจาก 42 เป็น 38 คะแนน
3. ดัชนี World Economic Forum Executive Opinion Survey 2016 สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวการจ่ายสินบนในเรื่อง การส่งออกและนำเข้า สาธารณูปโภค ภาษี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และคำตัดสินคดีของศาล รวมถึงการยักย้ายถ่ายเทเงินจากภาครัฐไปสู่เอกชน มีคะแนนลดลงจาก 43 เป็น 37 คะแนน
4. ดัชนี World Justice Project Rule of Law Index 2016 วัดภาพลักษณ์เกี่ยวกับการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐในการหาประโยชน์ส่วนตน คะแนนดีขึ้นจาก 26 เป็น 37 คะแนน
จะเห็นได้ว่าคะแนนของตัวชี้วัดมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง แต่โดยรวมแล้วคะแนนของประเทศไทยในปีนี้ ปรับลดลงมาเพียงแค่ 3 คะแนนเท่านั้น คือจาก 38 เป็น 35 คะแนน แต่เนื่องจากหลายประเทศมีคะแนนเกาะกลุ่มอยู่ในช่วงเดียวกัน ทำให้อันดับของประเทศไทยตกจากเดิมลงมาหลายอันดับ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเดินหน้าแก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนที่มีอยู่ และพยายามพัฒนาทุกหนทางในการขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความโปร่งใสให้มากยิ่งขึ้น
ที่มา:http://thaipublica.org/2017/01/corruption-perceptions-index-2016-thailand/

..เพิ่มเติม..