โดย ห้องข่าว 7 สี – เผยแพร่เมื่อ 15 ก.ค. 2013
ใบยาสูบ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญของไทย แต่เมื่อเปิดเป็นเออีซี อุตสาหรรมยาสูบจะเปลี่ยนไปอย่างไร ติดตามจากรายงาน
หนึ่งในยุทธศาตร์สำคัญในการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ในประเทศคือ มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้มีการปรับลดพื้นที่การปลูกใบยา จากที่มีปัจจุบันกว่า 100,000 ไร่ลงเรื่อยๆ ทำให้ชาวไร่จำนวนหนึ่งนำพื้นที่ไปปลูกข้าวแทน เพราะได้ราคาดีและดูแลง่าย แต่บางส่วนเห็นว่า ระบบการปลูกยาสูบในปัจจุบันสามารถที่จะคำนวณรายได้แน่นอน เนื่องจากมีโควต้าในการรับซื้อชัดเจน รวมถึงมีบริษัทเอกชนจำนวนมากเข้ามากว้านซื้อใบยา ส่งออกไปยังมาเลเซีย จีน และสหรัฐอเมริกา จึงยังจูงใจให้เกษตรกรส่วนหนึ่งยังพอใจที่จะปลูกใบยาอยู่
ขณะที่โรงงานยาสูบ ซึ่งเป็นผู้ซื้อใบยารายใหญ่ ยอมรับเริ่มประสบปัญหาการจัดหาใบยาเพื่อนำมาใช้ผลิตสินค้า ทั้งจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูงขึ้นเรื่อยๆปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ และการแข่งขันรับซื้อใบยาจากภาคเอกชนเพื่อส่งออกต่างประเทศ จึงต้องเร่งหาทางออกรองรับเพื่อให้อยู่รอดได้ หลังการเข้าสู่เออีซีเต็มรูปแบบ ที่สินค้าจะไหลหากันโดยไม่มีกำแพงภาษี
นอกจากปัญหาในด้านการผลิตแล้ว โรงงานยาสูบยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการหลั่งไหลเข้ามาของบุหรี่จากต่างประเทศ ที่มีราคาต่ำมาก รวมถึงเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด จนบุหรี่ไทยเหลือสัดส่วนเพียงแค่ 1 ใน 3 ของตลาดรวม
แม้กระแสการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในไทยจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมยาสูบเกี่ยวข้องกับชาวไร่จำนวนมากถึง 18,000 คนมีมูลค่าการค้าขายใบยาสูบต่อปีถึง 2,200 ล้านบาท ภาครัฐคงต้องหาทางออกและการเยียวยา รวมถึงมีเวลาให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัว
อุตสาหกรรมยาสูบไทย ปรับตัวรับ AEC (วิดีโอ)
หมวดหมู่ :
บทความ